ไทยเบฟปรับโครงสร้างครั้งใหญ่พัฒนาสู่โรงงานออโตเมชั่น
เมื่อประเทศไทยเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 บริษัทต่าง ๆ เริ่มปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยที่โลกดิจิทัลเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
ไทยเบฟเวอเรจ เริ่มปรับตัวโดยมีการตั้งศูนย์เบฟเทค หน่วยงานเพื่อพัฒนาเครื่องจักรระบบออโตเมชั่นและโรบอต เพื่อปรับปรุงระบบอุตสาหกรรมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ ฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มตราช้าง เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจในเครือไทยเบฟเวอเรจการวางแผนทรานส์ฟอร์มกระบวนการผลิตโรงงานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ทั้ง 30-40 โรงงาน สู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 หรือใช้ระบบออโตเมชั่นทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดต้นทุน
ทั้งนี้ ศูนย์เบฟเทคได้พัฒนาเครื่องจักรระบบออโตเมชั่น 34 ตัว ติดโรงงานผลิตเครื่องดื่มชาเขียวโออิชิ ที่โรงงานวังม่วง จ.สระบุรี และนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.พระนครศรีอยุธยา อีกทั้งกำลังพัฒนาระบบออโตเมชั่นกว่า 1,000 ตัว ตั้งโรงงานในเครือทั้งหมด ล่าสุดทุ่มงบ 2,000 ล้านบาท ขยายไลน์ผลิตและบรรจุด้วยเทคโนโลยีโคลด์อะเซฟติกฟิลลิ่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการผลิตหลากหลาย ทั้งนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์สร้างความแตกต่างและเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและคนรุ่นใหม่
“การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีทั้งระบบซัพพลายเชน รวมทั้งการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่กลุ่มนันแอลกอฮอล์ ในส่วนของเครื่องดื่มและอาหารต้องตอบโจทย์เพื่อสุขภาพสอดรับกับเทรนด์ของโลกอนาคต ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้มีความได้เปรียบในการทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยไทยเบฟฯ ผนึกกำลังร่วมกับเอฟแอนด์เอ็น จากการทำตลาดเครื่องดื่มในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ขยายไปประเทศอื่นในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ หรือมาเลเซีย”ฐาปน กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทกำลังศึกษาสร้างโรงงานเบียร์และเครื่องดื่มอื่นๆ แห่งใหม่ ที่วังม่วง มีพื้นที่กว่า 1,000 ไร่ พร้อมวางแผนสร้างคลังสินค้าเพิ่มเติมจากคลังสินค้า จ.นครราชสีมา รองรับระบบโลจิสติกส์ส่งสินค้าไปภาคเหนือ อีสาน และขยายไปสู่เมียนมา ลาว เวียดนาม กัมพูชา พร้อมวางเป้าหมายโออิชิทั้งปีรายได้ 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้ต่างประเทศเพิ่มจาก 12% เป็น 20% และในปี 2563 เพิ่มเป็น 50% ส่วนรายได้ในประเทศ 50% นั่นคือวิชั่นของ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” ที่ต้องคิดเร็ว ให้ความสำคัญกับการลงทุนดิจิทัล ยกเครื่องกระบวนการผลิตโรงงานใหม่ เพื่อจะทำให้เป็นปลาใหญ่อยู่ได้อย่างยั่งยืน ที่มา: โพสต์ทูเดย์