จีนตั้งเป้าสู่สังคมนิยมแบบโมเดิร์น ขยายจากโมเดลหมู่บ้านเสี่ยวกัง
จากภาพคือ ชาวหมู่บ้านเสี่ยวกังในปัจจุบัน
สำนักข่าวซินฮว๋ารายงานเรื่องที่รัฐบาลจีนได้ประกาศสิ้นสุดการใช้โมเดลเสี่ยวกังรูปแบบเก่า แต่จะพัฒนาโมเดลเสี่ยวกังรูปแบบใหม่เพื่อนำจีนไปสู่สังคมนิยมใหม่
เรื่องการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการทำเกษตรกรรมของหมู่บ้านเสี่ยวกัง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ทางเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มจากชาวบ้านกลุ่มเล็กๆที่กล้าจะแหกกฎหมายระบบนารวมของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อปี ค.ศ. 1979 โดยมีการทำสัญญาลงนามกันระหว่างชาวบ้านที่จะทำนาโดยบริหารผลกำไรตามแต่ละบ้าน ซึ่งหากใครถูกเจ้าหน้าที่จับตัว คนที่เหลือจะต้องดูแลคนในครอบครัวของคนที่ถูกจับให้ เหตุการณ์นี้ทำให้หมู่บ้านเสี่ยวกังมีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างสูงภายในเวลาเพียง 1-2 ปี
สิ่งที่น่าทึ่งคือ เมื่อรัฐบาลของเติ้งเสี่ยวผิงทราบเรื่องราว กลับไม่ได้เอาผิดหรือลงโทษพวกเขา แต่กลับนำโมเดลของชาวบ้านมาศึกษา แล้วได้ประกาศใช้สำหรับหมู่บ้านยากจนในชนบทตั้งแต่ ค.ศ. 1981 ซึ่งโมเดลนี้ถูกมองว่าเป็นจุดเริ่มในการเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมของจีนให้เป็นแบบเสรีนิยมในทุกวันนี้
โมเดลเสี่ยวกังมีการนำมาใช้แพร่หลาย โดยมุ่งเน้นที่หมู่บ้านในชนบท ต่อมาก็เริ่มนำมาประยุกต์ใช้กับเขตเศรษฐกิจพิเศษบางแห่ง แล้วเริ่มขยายเข้าในธุรกิจครัวเรือนของสังคมเมือง
ปัจจุบัน รัฐบาลจีนได้ประกาศว่า จะใช้โมเดลเสี่ยวกังเพื่อนำจีนไปสู่ “สังคมนิยมใหม่” หรือ สังคมนิยมแบบโมเดิร์น” ซึ่งตั้งเป้าว่าภายในปี 2020 โมเดลเสี่ยวกังแบบใหม่จะได้นำมาใช้ไปทั่วประเทศอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเท่ากับว่าโมเดลเสี่ยวกังที่ใช้มานานกว่า 4 ทศวรรษ จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ แล้วจากนั้นแผนงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ก็จะนำมาใช้ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2035 นอกจากนี้ GDP ต่อหัวของประชากรจีนจะไม่ได้เป็นเป้าหมายสูงสุดอีกต่อไปด้วย แต่จะเป็นการพัฒนาในด้านสาธารณูปโภคที่สอดคล้องกับความต้องการในการใช้ชีวิตของผู้คนมากขึ้น
ก็ต้องรอดูทิศทางของจีนยุคใหม่ต่อไป