O2O โมเดลธุรกิจที่กำลังมาแรงในจีน 2018
ถือว่าเป็นกลยุทธ์และแนวทางที่น่าศึกษา สำหรับโมเดลธุรกิจ O2O (Online to Offline) ซึ่งหมายถึง “การผสมผสานธุรกิจจากออนไลน์ไปสู่ออฟไลน์” ซึ่งถือว่าเป็นการนำคุณสมบัติเด่นของการตลาดของทั้งสองแบบมาเติมเต็มซึ่งกันและกัน
ในวันนี้ คนจีนจำนวนมากมีพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการผ่านทางระบบออนไลน์ชนิดที่เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันไปแล้ว แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้น การปรับเปลี่ยนจากระบบออนไลน์มาสู้ออฟไลน์ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย
ขณะเดียวกัน หลายธุรกิจที่ต้องปรับเปลี่ยนจากออนไลน์ไปหาออฟไลน์นั้น ก็เพื่อผสมผสานทั้งสองแนวทางให้เข้ากันในโลกธุรกิจยุคใหม่ที่ทำให้ในเวลานี้ จีนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มโมเดลธุรกิจนี้อย่างได้ผลน่าสนใจที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และมีอัตราการเติบโตของ O2O สูงต่อเนื่องมาหลายปี แม้ว่าในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตจะลดลง แต่นั่นไม่ได้หมายถึงความนิยมที่ลดลงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม เป็นเพราะระบบสาธารณูปโภคและระบบออนไลน์ของจีนในเวลานี้ได้ขยายตัวจนสามารถรองรับในแต่ละภาคส่วนได้อย่างมาก
ดังนั้นมารู้จักกับ O2O กันเล็กน้อย
สำหรับผู้ที่กำลังสนใจเริ่มธุรกิจ แล้วต้องใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยนั้น จะพบว่า O2O มีทั้งสองด้านคือการนำ Offline to Online และ Online to Offline แน่นอนว่าไม่ได้มีข้อจำกัดของรูปแบบว่าต้องตายตัว ขึ้นอยู่กับการคิดค้นที่เหมาะสมกับธุรกิจหรือบริการนั้นๆ
ตั้งแต่ปี 2011-2017 มีรายงานและการสำรวจเกี่ยวกับการทำ O2O ในประเทศจีนว่าการทำ O2O นั้นใช่ว่าจะเป็นโรยด้วยกลีบกุหลาบ แม้ว่าทุกวันนี้รูปแบบการจำหน่ายและช่องทางการชำระเงินของร้านค้าปลีกและตัวแทนจำหน่ายส่วนใหญ่จะผ่านระบบ E-Payment กันมากแล้วก็ตาม เนื่องจากโมเดลธุรกิจนี้จะให้ความสำคัญกับมาตรฐานและคุณภาพของสินค้าและงานบริการมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่เพียงช่องทางจำหน่ายเท่านั้น ซึ่งนี่คือปัญหาใหญ่ของจีน เพราะไม่เพียงแต่คุณภาพสินค้าจะเป็นที่น่ากังขามาตลอดจนถึงขนาดมีคำเรียกกันว่าของ Copy จากเซินเจิ้นแล้ว (ซึ่งต้องใช้เวลานานนับทศวรรษกว่าจะสลายภาพลักษณ์ด้านลบนี้ได้)
ในด้านของบริการ ก็เป็นที่รู้กันว่างานบริการจีนมีเรื่องจิตบริการหรือ Service Mind ระดับต่ำมาก (ยิ่งหากเปรียบเทียบกับไทยและญี่ปุ่น) ลักษณะเหล่านี้ทำให้ O2O ในจีนเป็นไปอย่างยากลำบาก ตัวอย่างเช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบบริการของโรงแรมและร้านอาหารในประเทศจีน หรือการเพิ่มเติม Facilities เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้มาใช้บริการ ปรากฏว่าด้วยเงินลงทุนที่มีมากของกิจการใหญ่ ทำให้อุปกรณ์และเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆที่มีการเพิ่มเติมนั้นแม้จะเป็นของดี แต่ในส่วนของงานบริการกลับแย่มาก ซึ่งเป็นบทเรียนสำหรับผู้ที่จะลงทุนเพิ่มในด้านนี้ แต่ไม่ได้พัฒนาในส่วนของบริการไปด้วย
แต่มาถึงวันนี้ จีนเริ่มปรับเปลี่ยนแล้วคิดแนวทางของ O2O ที่เหมาะสมกับในแต่ละภาคส่วนของประเทศ โดยหลักจากปี 2012 ที่โมเดลธุรกิจ O2O เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในประเทศจีนนั้น การแข่งขันภาคธุรกิจ สินค้าและ บริการ ก็ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จีนผุดไอเดีย O2O ออกมาแทบจะคลอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ
ทั้งนี้ หัวหอกอันดับหนึ่งย่อมไม่พ้น O2O ในธุรกิจอาหารและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกิดจาก O2O ที่เด่นชัดแล้วมีการใช้งานแพร่หลายในวงกว้างสูงสุดก็คือบริการ Food Delivery หรือการจัดส่งอาหารภายในประเทศจีน แต่นั่นก็แปลว่า มีการแข่งขันที่สูงมาก ตัวอย่างเช่นบริการส่งอาหารของ Application สำคัญ 3 รายที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด ได้แก่ Meituan-Dianping, Ele.me, Baidu-Waimai โดยลักษณะการทำงานที่ทำให้เป็น O2O ก็คือ การสั่งสินค้า อาหาร เข้ามาทาง App ซึ่งจะเข้ามาในระบบแล้วส่งไปยังร้านค้าที่ร่วมใช้งานหรือร้านสาขานั้นๆ แล้วทางร้านก็จะจัดส่งอาหารไปให้ตามข้อมูลที่ได้รับจาก App ซึ่งผู้ใช้ลงทะเบียนไว้
นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของ O2O ที่ใช้งานอย่างง่ายๆแล้วกำลังแพร่หลาย ด้วยความที่มันเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการใช้งานของมนุษย์ที่ช่วยลดขั้นตอนยุ่งยากบางอย่าง แล้วทำให้สามารถเรียกใช้บริการได้จากทุกที่ผ่านทางมือถือเท่านั้น ทำให้จีนซึ่งมีประชากรมหาศาล และนิยมการใช้งานนวัตกรรมสมัยใหม่ ก็มีการใช้งานที่เติบโตสูงขึ้นและเป็นตลาด O2O ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเวลานี้ เหนือกว่าสหรัฐอเมริกาไปแล้วเรียบร้อย
ส่วนอัตราการเติบโตของจีนในปี 2017 เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้านั้น อยู่ที่ 49.6% คิดเป็นมูลค่าถึง 1,145 ล้านหยวน แล้วคาดว่าจะเติบโตในปี 2018 ที่ 37.5% ทั้งนี้ตัวเลขที่คาดการณ์ว่าจะลดลงนั้นไม่ได้แปลว่าความนิยมในการใช้งานลดลงแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม การแข่งขันของ O2O ในภาคส่วนต่างๆกลับจะยิ่งเข้มข้นขึ้น สำหรับที่ผ่านมา มี App สำหรับส่งอาหารหลายตัวที่เปิดใช้งานมาได้ระยะหนึ่งแล้วก็ต้องปิดตัวไปด้วย ในส่วนของธุรกิจอื่นที่กำลังมาแรง เช่น บริการจัดส่งของ-รับของ รับซักรีด จองตั๋วภาพยนตร์ จองตั๋วคอนเสิร์ต โปรโมชั่นต่างๆ เรียกรถให้บริการ ไปจนถึงการเรียนภาษาอังกฤษผ่านทางออนไลน์
ในปัจจุบันยังคงมีพื้นที่และส่วนแบ่งตลาดสำหรับ O2O อีกมาก ก็ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละธุรกิจและบริการจะสามารถปรับประยุกต์พฤติกรรมในการสั่งสินค้าของผู้บริโภคให้เข้ากับสินค้าและบริการของตนให้เหมาะสมอย่างไรนั่นเอง
#คิดถึงการตลาดจีน คิดถึง Level Up Thailand#