ทำไมจีนต้องปฏิวัติวัฒนธรรมยุคดิจิทัล
จริงหรือไม่ที่ว่ามาตรการต่างๆของจีนที่ออกมาในช่วงนี้ โดยเฉพาะการควบคุมสื่อ จัดระเบียบสื่อ และการควบคุมการนำเสนอคอนเทนต์บนแอปสตรีมต่างๆนั้น เป็นหนึ่งในแนวทางของการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน “ครั้งใหม่” ซึ่งถูกคาดว่านี่คือการปฏิวัติเวอร์ชั่น 2.0 เพราะนี่อาจจะเป็นการปฏิวัติในเชิงดิจิทัลสื่อที่มีแนวทางของเหมาเจ๋อตงมาใช้เป็นต้นแบบ หากย้อนไปในยุค 50-70s เมื่อครั้งที่เหมาเจ๋อตงยังมีชีวิตและเป็นผู้นำประเทศจีน เขาได้ออกมาตรการและข้อบังคับมากมายเพื่อหวังที่จะ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ซึ่งเขามีความเชื่อว่านี่จะเป็นการทำให้ศักดินาและชนชั้นในสังคมจีนหมดสิ้นลง แล้วจีนจะได้กลายเป็นสังคมนิยมโดยแท้จริง แต่ผลลัพธ์ก็ออกมาเลวร้ายถึงขีดสุด เมื่อการปฏิวัติวัฒนธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมืองและผู้เห็นต่าง แล้วยังปลุกระดมมวลชนโดยเฉพาะเยาวชนคนหนุ่มสาวที่เข้าร่วมกับกองกำลังเรดการ์ดได้มีอำนาจที่จะกระทำการรุนแรงไปทั่วประเทศ ภายใต้ “ความบ้าคลั่งอย่างถึงขีดสุด” ซึ่งภายหลังมีการวิเคราะห์ว่าแท้จริงแล้วการปฏิวัติวัฒนธรรมเป็นหนึ่งในมาตรการที่เหมาเจ๋อตงนำมาใช้เพื่อเปลี่ยนกระแสความไม่พอใจของเหล่าแกนนำในพรรคและประชาชนจีนที่มีต่อ “นโยบายก้าวกระโดดไกล” ซึ่งประสบความล้มเหลวอย่างหนักและส่งผลกระทบต่อความย่อยยับของเศรษฐกิจจีน นำไปสู่ความอดอยากแร้นแค้นของชาวจีน แล้วยังเป็นกลวิธีในการรักษาอำนาจของตนในฐานะผู้นำสูงสุดไว้ด้วย แล้วมันแตกต่างอย่างไรกับมาตรการต่างๆที่ทางการจีนในยุคของ สีจิ้นผิง นำมาใช้กับวงการบันเทิง และภาคการศึกษา รวมถึงธุรกิจและเทคโนโลยี ก่อนอื่นเรามาดูมาตรการต่างๆที่ออกมาในช่วงนี้ทีละข้อกัน 1.มาตรการควบคุมจริยธรรมของศิลปิน คนดัง เซเล็บ บุคคลสาธารณะ Influencer 2.ยกเลิกระบบโหวตดารา ศิลปิน แบบตัวบุคคล แต่ยังให้มีการโหวตด้านผลงานได้ 3.ลดชั่วโมงการเรียน ลดการบ้าน ห้ามสอนพิเศษหลังเลิกเรียน ให้เด็กได้มีโอกาสทำกิจกรรม ทำงานอดิเรก ความถนัดของตนเอง 4.ควบคุมธุรกิจติวเตอร์ ห้ามโรงเรียนกดวิชาและติวเตอร์สอนซ้ำกับเนื้อหาในโรงเรียน 5.เข้าควบคุมการนำเสนอคอนเทนต์ของแพลทฟอร์ม โซเชียลมีเดีย แอปสตรีม 6.บรรจุความคิด สีจิ้นผิง ลงในหลักสูตรการศึกษา ตั้งแต่ระดับประถม 7.เข้าแทรกธุรกิจขนาดใหญ่ ด้วยข้อหาผูกขาด โดยกรณีที่ดังที่สุดคือ Alibaba 8.ตรวจสอบพฤติกรรมย้อนหลังและปัจจุบันของเหล่าเซเล็บคนดัง ว่ามีการกระทำเสื่อมเสียต่อความเป็นประชาชนจีนหรือไม่ 9.ห้ามไม่ให้นำเสนอศิลปินผู้ชายที่แสดงลักษณะภายนอกไปในทางเพศหญิงออกทางสื่อ เช่นเหล่าศิลปินหน้าสวยเหมือนผู้หญิง 10.ควบคุมชั่วโมงเล่นเกมของเยาวชน ไม่ให้เกินที่กำหนดไว้ต่อวัน การออกมาตรการเหล่านี้ยังมีผลกระทบต่อหลายภาคส่วนในจีน เช่น ธุรกิจสื่อ การท่องเที่ยว บันเทิง ตัวอย่างเช่นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งถูกสร้างขึ้นมาคล้ายกับของญี่ปุ่น ก็ปิดตัวเองลงทันทีเพื่อสอดรับกับมาตรการดังกล่าว ในภาพรวมแล้ว การออกมาตรการต่างๆของทางการจีนยุคนี้ ได้ให้เหตุผลหลักคือ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนคนจีนรุ่นใหม่ รวมถึงต้องการออกมาจำกัดและควบคุมกิจการในหลายด้านซึ่งจีนมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในการบริหารประเทศ แต่ในส่วนนี้จะส่งผลกระทบแค่ไหนต่อภาคการลงทุนและธุรกิจในจีน ซึ่งถือว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ของโลก เช่นที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งเวลานี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองใหญ่ที่สุดที่ภาคการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนมากที่สุด ทั้งนี้คงต้องรอติดตามอัพเดทกันต่อไป